วัดนันตาราม สร้างขึ้นโดยชาวไทใหญ่ แต่เดิมเรียก วัดจองคา เพราะมุงด้วยหญ้าคา มีฐานะเป็นพระอารามหรือสำนักสงฆ์สำหรับปฏิบัติศาสนกิจ ชาวบ้านส่วนใหญ่มักเรียกว่า วัดจองเหนือ เพราะตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของอำเภอเชียงคำ และเปลี่ยนชื่อเป็น วัดนันตาราม ในปัจจุบัน เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของผู้สร้าง ปี พ.ศ.2468 พ่อเฒ่านันตา วงศ์อนันต์ คหบดีผู้มีศรัทธาแรงกล้าที่จะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาได้บริจาคเงินเพื่อบูรณะปฏิสังขรณ์วัดจองคา โดย ได้สร้างวิหารขึ้นหนึ่งหลังแทนวิหารที่มุงด้วยหญ้าคา แล้วจึงว่าจ้างนายช่างชาวพม่ามาออกแบบและทำการก่อสร้างวิหาร
วิหารเป็นศิลปะแบบไทใหญ่ สร้างจากไม้สักทั้งหลัง หลังคาหน้าจั่วยกเป็นช่อชั้น ลดหลั่นกันสวยงามมุงด้วยแป้นเกร็ด เพดานประดับประดาด้วยกระจกสีลวดลายวิจิตรสวยงามไม้ซ้ำกัน เสาทั้ง ๖๘ ต้น ลงรักปิดทอง
ในปีพ.ศ. 2476 พ่อเฒ่านันตาได้ว่าจ้างและ ไหว้วานชาวบ้านประมาณ 80 คน ไปอัญเชิญพระประธานมาจาก วัดจองเหม่ถ่า ซึ่งเป็นวัดร้างในชุมชนไทใหญ่เดิมที่อำเภอปง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย แกะสลักจากไม้สักทองทั้งต้น ลงลักปิดทอง ตามรูปแบบศิลปะมันดาเลย์ ที่นิยมในพุทธศตวรรษที่ 24 มีขนาดหน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูงจากฐานถึงยอดเกศา 9 ศอก ประดิษฐานบนธรรมาสน์ ที่จำลองมาจากราชบัลลังก์ของพม่า มีสีทองเหลืองอร่ามฉลุลวดลายและแกะสลักอ่อนช้อยสวยงาม ประดับประดาด้วยกระจกสี และภายในวิหารยังมีพระพุทธรูปเกสรดอกไม้ สร้างจากไม้หอมนานาชนิดในเมืองต่องกี ประเทศพม่า นำมาตากแห้งและบดให้ละเอียด ผสมกับยางรัก เถ้าฟางเผ่าคลุกกับดินจอมปลวกหรืออิฐปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปลงรักปิดทอง พระเจ้าแสนแซ่ พระพุทธรูปทองสัมฤทธิ์สมัยเชียงแสน และพระพุทธรูปหินขาว ศิลปะแบบพม่า
การปฏิสังขรณ์และก่อสร้างวัดจองคาครั้งใหญ่ใช้เวลาทั้งหมดร่วม 10 ปี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2477 จึงแล้วเสร็จ และพ่อเฒ่านันตา จัดงานฉลองครั้งใหญ่ 15 วัน 15 คืน
วัดนันตาราม ตั้งอยู่ในพื้นที่ หมู่ 13 ตำบลหย่วน อำเภอ เชียงคำ พะเยา แผนที่ map