ถ้ำแก้วโกมล เดิมเรียกชื่อถ้ำผลึกแคลไซค์ อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเขตประทานบัตรเหมืองแร่ฟลูออไรต์ ถ้ำแก้วโกมลได้ถูกค้นพบโดยวิศวกรเหมืองแร่ ประจำสำนักงานทรัพยากรธรณี จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2536 สภาพภายในถ้ำเต็มไปด้วยผลึกแคลไซค์ (Caicite) รอบด้านทั้งบริเวณผนังของถ้ำ ผลึกมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันมากมายหลายแบบจับตัวกันมองดูคล้ายปะการัง ดอกกระหล่ำ เกล็ดน้ำแข็ง และโคมไฟเพดาน มีสีขาวใส เหลือง แดง และน้ำตาล มีความสวยงามมากตามธรรมชาติ มีคุณค่าและความสำคัญต่อการค้นคว้าวิจัย
ในปี พ.ศ. 2538 กรมทรัพยากรธรณี ได้ทำการพัฒนาด้านความสะดวกและความปลอดภัยในการเข้าชมถ้ำ ได้ดำเนินการกันเขตพื้นที่บริเวณรอบถ้ำในเขตรัศมี 200 เมตร ครอบคลุมเนื้อที่ 51 ไร่ 1 งาน 04 ตารางวา ออกจากพื้นที่ประทานบัตร
ใน วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2544 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร (พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10) ได้เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรถ้ำผลึกแคลไซต์แม่ลาน้อย และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “ถ้ำแก้วโกมล” ซึ่ง “แก้วโกมล” ความหมายว่าแก้วแห่งความงาม และได้พระราชทานนามห้องภายในถ้ำฯ รวมจำนวน 5 ห้อง ดังนี้
ห้องพระทัยธาร มีที่มาจากการที่น้ำในถ้ำ ละลายหินปูนไหลเหมือนเป็นธารน้ำตก
วิมานเมฆ ตั้งตามลักษณะของแร่ที่อยู่ตามเพดาน ซึ่งดูคล้ายปุยเมฆ
เฉกหิมพานต์ เกิดจากจินตนาการของพระองค์ท่านที่มองแล้วเหมือนอยู่ในป่าหิมดานต์ตามวรรณคดี
ม่านผาแก้ว งดงามไปด้วยผลึกแก้วขาวใสที่เกาะอยู่ราวกับม่านเต็มถ้ำ
เพริศแพร้วมณีบุปผา เต็มไปด้วยผลึกแร่ที่ละเอียดเป็นรูปเข็มคล้ายเกล็ดน้ำแข็ง เปราะบาง แตกหัง่าย จัดว่าเป็นผลึกที่สวยงามและเด่นที่สุดของถ้ำ
ลักษณะเด่นของถ้ำแก้วโกมล คือ เป็นถ้ำผลึกแคลไซต์ที่สวยงามที่สุดในประเทศ ไทย ซึ่งเป็นถ้ำแร่ 1 ใน 3 แห่งของโลก คือที่ประเทศจีน ออสเตรเลีย และไทย
การเกิดผลึกแคลไซต์ หรือแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดจากกระบวนการกลั่นตัวตกผลึก (Crystallizaton) ของไอน้ำร้อนที่ละลายแคลเซียมในถ้ำจนอิ่นตัวแล้วเกิดเป็นผลึกจับตามผนังถ้ำ เชื่อว่าถ้ำแก้วโกมลเดิมเป็นทางน้ำร้อนใต้ดิน เมื่อกระแสน้ำร้อนละลายสารแคลเซียมที่ฟุ้งกระจายอยู่ในโพรงถ้ำภายใต้ อุณหภูมิที่เหมาะสมจึงเกิดเป็นผลึกแร่บริสุทธิ์และอ่อนนุ่มราวหิมะ ซึ่งพบเห็นได้ยากมาก ภายในถ้ำแก้วแบ่งออกเป็นห้องโถงถ้ำทั้งหมด 5 ห้อง เมื่อผ่านทางเข้าปากถ้ำ สามารถเดินชมถ้ำแก้วไปตามทางเดินที่เชื่อมถึงกันตลอด ห้องโถงถ้ำที่น่าสนใจได้แก่ห้องที่ 4 ซึ่งมีผลึกแคลไซต์บริสุทธิ์ที่มีรูปร่างคล้ายปะการัง ผลึกรูปเข็ม และเกล็ดน้ำแข็ง และห้องที่ 5 ซึ่งเป็นห้องที่อยู่ลึกที่สุดมีความสวยงามมากที่สุด มีผลึกแคลไซต์ ที่สมบูรณ์มากตามพื้นที่และผนังทั้งผลึกรูปเข็มและรูปปะการังสีขาว อย่างไรก็ดี เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่ที่มีความเปราะบาง ในขณะเดินชมควรระวังไม่ให้ชนกับผลึกแคลไซต์ ภายในถ้ำขณะเดินชม เพราะอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
ช่วงเวลาในการเข้าชมถ้ำแห่งนี้สามารถเที่ยวชมได้ตั้งแต่เดือนตุลาคมถึงเดือน พฤษภาคมของทุกปีเท่านั้น ถ้ำแก้วโกมลจะปิดทำการงบบริการนักท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายนถึงเดือน กันยายนทุกปี แต่ช่วงที่ดีที่สุดคือช่วงเดือนตุลาคม – เมษายน เพราะเป็นช่วงที่น้ำในถ้ำแห้งสนิท ไม่เปียกชื้น รวมถึงไม่มีหยดน้ำจากเพดานถ้ำให้รำคราญ และเนื่องจากถ้ำแก้วโกมลเป็นโพรงถ้ำที่อยู่ลึกลงไปในดิน อากาศถ่ายเทไม่สะดวก นักท่องเที่ยวที่มีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนพาเข้าชมถ้ำ เพื่อความปลอดภัย
เนื่องจากถ้ำแก้วโกมลเป็นถ้ำที่มีผลึกแร่แคลไซต์ ซึ่งถ้าหากสัมผัสกับมนุษย์ก็จะทำปฏิกิริยากับโปรตีนในเหงื่อของมนุษย์ ทำให้หมองคล้ำ ดำไม่มีความสวยงามอีกต่อไป การเข้าชมถ้ำแก้วโกมลจึงห้ามจับผนังถ้ำและผลึกแร่ และไม่ควรใส่หมาวกเข้าไปในถ้ำ หมวกอาจจะไปเกี่ยวกับผลึกแร่และเกิดความเสียหายได้ เพื่อเป็นการรักษาผลึกแร่ไว้ให้คงอยู่ต่อไป ภายในถ้ำแก้วโกมลมีอากาศร้อนและเป็นที่อับ อากาศถ่ายเทได้น้อย มีออกซิเจนน้อยภายในถ้ำ จึงกำหนดให้เข้าชมได้รอบละ 25 นาที จำนวนคนไม่เกิน 25 คน เพื่อความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข 108 เข้าสู่ อ.แม่ลาน้อย จากหน้าโรงพยาบาลแม่ลาน้อยแยกเข้าไปอีก 5 กม. จะถึงศูนย์บริการถ้ำแก้วโกมล โดยมีลานจอดรถ และขายบัตรเข้าชม อัตราค่าบริการ ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็ก 20 บาท
และจะมีรถรับส่งบริการฟรี จากศูนย์บริการไปส่งที่ที่ทำการหน้าถ้ำ
แผนที่ ถ้ำแก้วโกมล
Post Views: 15